11 ก.ย. 66 – สส.วรภพ พรรคก้าวไกล มองนโยบายรัฐบาล นายเศรษฐา ให้ความสำคัญ SMEs น้อยเกินไป แนะสร้างปัจจัยช่วยแข่งขันกับทุนใหญ่ พร้อมเสนอ 3 มาตรการช่วย ไม่ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบ
นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายภายหลังจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อ่านคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 โดยระบุว่าตนในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) มองว่ารัฐบาลยังให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ SMEs น้อยเกินไป จากการรับฟังคำแถลงนโยบายมีเพียงการอธิบายว่า SMEs กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว SMEs พบกับปัญหามานานก่อนวิกฤตโควิด ทำให้ตนเองมีความกังวลว่าหากรัฐบาลมองวิกฤตเศรษฐกิจแต่ในภาพกว้าง โดยคิดว่าเพียงการกระตุ้นและการแจกเงินเพียงครั้งเดียวจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ หรือจะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด
นายวรภพ กล่าวว่าสิ่งที่ SMEs คาดหวังจากนโยบายรัฐบาลคือปัจจัยที่เอื้อในการช่วยแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ที่มีทรัพยากรที่ได้เปรียบมากกว่า จึงต้องการให้รัฐบาลทบทวนเงื่อนไข โดยเฉพาะในโครงการเงินดิจิทัล จากที่กำหนดให้สามารถใช้เงินดิจิทัลได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร มาเป็นการกำหนดให้เงินดิจิทัล ใช้ได้เฉพาะกับร้านค้าปลีกร้านค้ารายย่อย และกับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เท่านั้น หรือควรจะกำหนดแต้มต่อให้ร้านค้าปลีก และกลุ่มSMEs เป็นโบนัสร้อยละ 20 – 30 ดีกว่าการใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่เงินดังกล่าวจะตกไปอยู่ที่กลุ่มทุนใหญ่เพียงกลุ่มเดียว นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของ SMEs เพราะปีที่ผ่านมา สินเชื่อในระบบทั้งหมดที่อนุมัติให้ SMEs ลดลงร้อยละ 2 ขณะที่สินเชื่อที่ปล่อยให้กลุ่มทุนใหญ่กลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5 ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมา 6 ปีติดต่อกันแล้ว ตนมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้รัฐบาลควรเพิ่มวงเงินสำหรับค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ปกติมีความเสี่ยงสูง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจะใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs แต่งบประมาณที่รัฐบาลก่อนหน้าจัดสรรให้ยังไม่มากพอ ที่จะทำให้สถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อให้แก่ SMEs
นายวรภพ ตนขอเสนอ 3 มาตรการต่อรัฐบาลเพื่อเป็นแนวทางไม่ให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบ คือกรณีที่รัฐบาลมีโครงการช่วยค้ำประกันหนี้เสียให้ผู้ประกอบการ แยกตามขนาดตามประเภทตามความเสี่ยงที่แตกต่างกัน หน่วยงานของรัฐ สามารถอำนวยความสะดวกในการยื่นขอกู้ได้สะดวกขึ้น และขอให้มีธนาคารของรัฐช่วยอนุมัติให้ผู้ที่มีประวัติหนี้เสีย โดยกำหนดให้ต้องหักบัญชีจ่ายคืนค่างวดเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ ส่วนลูกหนี้ที่อยู่ในวงจรหนี้นอกระบบไปแล้ว รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้เจรจากับเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม โดยต้องทำควบคู่กันทั้งมาตรการไม้แข็งและไม้อ่อน คือมีกฎหมายนิรโทษกรรมเจ้าหนี้นอกระบบที่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นธรรม โดยไม่รอการดำเนินการของตำรวจอย่างเดียว แต่ต้องใช้กระทรวงยุติธรรมและกรมสรรพากรเข้ามาดำเนินการต่อเจ้าหนี้ที่ไม่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ บังคับใช้กฎหมายไปพร้อมกันด้วย
ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว/เรียบเรียง