11 ก.ย.66 – สส.ศิริกัญญา พรรคก้าวไกล อภิปรายนโยบายเงินดิจิทัลของรัฐบาล ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย เสี่ยงสูญงบประมาณจำนวนมาก ย้ำต้องบริหารราชการแบบจัดลำดับความสำคัญ ไม่ควรใช้นโยบายแบบเทหมดหน้าตัก แล้วหวังน้ำบ่อหน้า และต้องชี้แจงที่มาของแหล่งงบประมาณให้ชัดเจน
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวอภิปรายถึงการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ว่า คำแถลงนโยบายรัฐบาล (Government Policy Statement) ครั้งนี้เป็นเหมือนสัญญาประชาคม ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลได้ชี้แจงถึงคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาชนว่า ใน 4 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เป็นไปตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้งไว้หรือไม่ ทั้งนี้ จากที่ได้รับฟังการแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตนมีข้อสังเกตว่ายังขาดการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่มีการอธิบายรายละเอียดของนโยบาย ไม่มีการกำหนดกรอบเวลาอย่างชัดเจน ขาดตัวชี้วัดที่เป็นตัวเลข ขาดแหล่งรายได้ที่มาของงบประมาณ และไม่ตรงกับนโยบายที่ได้สัญญาไว้ก่อนเลือกตั้ง อาทิ นโยบายพักหนี้ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การปราบปรามยาเสพติด การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัล การสร้างงานสร้างรายได้ และการลดค่าบริการรถไฟฟ้าตลอดสาย
นางสาวศิริกัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาล ยังไม่กล้าแตะเรื่องที่ยาก เหมือนรัฐบาลกลัวการผูกมัด เพราะกังวลว่าจะทำไม่ได้ตามสัญญา หากบางนโยบายไม่สามารถทำได้ ก็ไม่ควรนำมาใช้ในการหาเสียงตั้งแต่แรก หรืออาจเป็นข้อจำกัดของการเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ที่นโยบายมาจากต่างขั้ว จึงไม่สามารถเขียนนโยบายลงลึกได้ ทั้งนี้ ตนมีข้อสังเกตถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น ยังขาดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ เช่นเดียวกับมาตรการในระยะยาวนั้น ยังขาดมาตรการลดรายจ่ายและลดความเหลื่อมล้ำ มีเพียงการระบุว่าจะลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ยังขาดมาตรการลดความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ๆ อาทิ การจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน และภาษีมรดก เป็นต้น
นางสาวศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังขาดการชี้แจงถึงแหล่งที่มาของงบประมาณของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 560,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ว่าจะออกแบบให้มีลักษณะเป็นการเติมเงิน คูปอง อิเล็กทรอนิกส์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการใช้เทคโนโลยี Block Chain ก็ต้องใช้งบประมาณมาสนับสนุนเทคโนโลยีเงินดิจิทัลจำนวนมาก เพราะอาจมีอัตราแลกเปลี่ยนไม่เท่ากัน และเสี่ยงต่อการสูญเสียงบประมาณ รวมถึงอาจการเกิดปัญหาเงินเฟ้อแบบดิจิทัล ส่วนปัญหาแหล่งที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้กับนโยบายเงินดิจิทัล นั้น ยังมีปัญหาเพราะแม้ว่ารัฐบาลประมาณการณ์ว่าจะสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ 260,000 ล้านบาท แต่อาจนำเงินมาใช้กับนโยบายเงินดิจิทัลได้เพียง 100,000 ล้านบาทเท่านั้น เพราะรัฐบาลยังต้องแก้ปัญหาการบริหารจัดการงบประมาณเดิมที่ขาดประสิทธิภาพ และงบสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน โดยส่วนตัวคาดว่า ถึงวันที่ 1 ก.พ.67 รัฐบาลจะยังไม่มีเงินสดเพียงพอกับการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล
นางสาวศิริกัญญา กล่าวถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้กับนโยบายเงินดิจิทัล 560,000 ล้านบาท ว่า หากรัฐบาลจะใช้เงินงบประมาณรายจ่าย ปี 2567 นั้น ไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะต้องจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายบุคลากร การชำระหนี้ งบผูกพัน งบท้องถิ่น และเงินสวัสดิการ โดยมีเงินคงเหลือ 850,000 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่กฎหมายกำหนดให้เป็นงบประมาณรายจ่ายลงทุน ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 20 คิดเป็นวงเงิน 450,000 ล้านบาท เหลือเงินที่ใช้ได้จริง 400,000 ล้านบาทเท่านั้น และยังต้องจัดสรรเป็นงบโครงการของแต่ละกระทรวงด้วย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงดุลเงินสดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี มีรายได้นำส่งคลัง ประมาณ 800,000 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท กล่าวคือ รัฐบาลไม่มีเงินสดเพียงพอ ทำให้รัฐบาลอาจต้องใช้เงินนอกงบประมาณ คือ การกู้เงินจากธนาคารของรัฐ หรือการกู้ยืมเงินจากกองทุนหมุนเวียน อาทิ กองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือการขายกองทุนวายุภักษ์ แต่หากไม่มีการแก้ไขกรอบวินัยการเงินการคลังรัฐบาล มาตรา 28 การกู้เงินจากหน่วยงานภาครัฐ ก็ไม่สามารถดำเนินการใช้เงินนอกงบประมาณได้ ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการแก้ไขจริงก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลไม่สง่างาม
นางสาวศิริกัญญา กล่าวย้ำว่า รัฐบาลต้องพึงระวังเพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายเงินดิจิทัล นั้น อาจทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นได้ชั่วคราวเท่านั้น ไม่เกิดความคุ้มค่า ไม่ยั่งยืน และมีคำถามว่าสมควรทำหรือไม่ เพราะยังไม่ตรงจุด อาจสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ขณะที่การกระจายรายได้นั้น ต้องมีการปฏิรูปการจัดงบประมาณและระบบภาษีไปด้วย ไม่ให้เศรษฐกิจโตเฉพาะส่วนบนเท่านั้น และควรป้องกันไม่ให้เกิดเศรษฐกิจแบบผูกขาด ทั้งนี้ บริบทของเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในยุคที่เงินเฟ้อสูงทั่วโลก ขณะที่ หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะสูงขึ้น แต่ทรัพยากรถดถอย ดังนั้น รัฐบาลต้องบริหารจัดการงบประมาณให้ดีเพราะไม่สามารถใช้นโยบายแบบเทหมดหน้าตัก แล้วหวังน้ำบ่อหน้าได้ ขอให้รัฐบาลตั้งใจฟังเสียงสะท้อนจากสมาชิกรัฐสภา แล้วนำไปปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง