a








รัฐสภากำหนดกรอบประชุมรับฟังการเเถลงนโยบายของรัฐบาล 2 วัน วันที่ 11-12 ก.ย. นี้ รวม 29 ชั่วโมง

7 ก.ย. 66 – ประธานรัฐสภา เผย ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย กำหนดวันประชุมรัฐสภารับฟังการแถลงนโยบายของรัฐสภาและเปิดให้สมาชิกอภิปราย 2 วัน วันที่ 11-12 ก.ย. นี้ รวม 29 ชั่วโมง ฝ่ายค้านได้เวลามากที่สุด 14 ชั่วโมง เริ่มประชุม 09.00 น. ของทุกวัน เชื่อฝ่ายค้านมีคุณภาพ จะอภิปรายอยู่ในกรอบกฎหมายและข้อบังคับการประชุม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดวันและเวลาการประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล ว่าบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี มีการแสดงความคิดเห็นและผ่อนปรนเพื่อให้การประชุมดำเนินไปได้ ที่ประชุมเห็นร่วมกันถึงการกำหนดวันแถลงนโยบายของรัฐบาลเป็นเวลา 2 วัน ในวันจันทร์ที่ 11 ก.ย. และวันอังคารที่ 12 ก.ย. นี้ โดยเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของทุกวัน ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 29 ชั่วโมง จำแนกเป็นเวลาของรัฐบาลในการแถลงชี้แจง และเวลาให้ สว. สส.พรรคร่วมรัฐบาลได้อภิปรายฝ่ายละ 5 ชั่วโมง ส่วน สส.พรรคร่วมฝ่ายค้านให้เวลา 14 ชั่วโมง เชื่อว่าจะเพียงพอ และทุกฝ่ายจะไปปรับเวลาที่ชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายจะอภิปรายกี่คนในกรอบเวลาที่กำหนดไว้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่าทุกฝ่ายต่างต้องการชั่วโมงในการอภิปรายจำนวนมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลา จึงตกลงเวลากันตามสมควร เเม้จะมีสมาชิกบางส่วนเสนอให้การอภิปรายจบภายในเวลา 21.00 – 22.00 น. แต่เมื่อดูเวลารวมกว่า 29 ชั่วโมงเเล้ว วันแรกจึงอาจใช้เวลาล่วงเลยไปเกือบถึง 24.00 น. ทั้งนี้เพื่อให้วันถัดมาการอภิปรายมีคุณภาพมากขึ้น และคาดว่าวันที่ 12 การอภิปรายไม่น่าจะเกินเวลา 23.00 น. เนื่องจากในวันที่ 13 ก.ย. 66 จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดเเรก ในเวลา 09.00 น. 

ต่อข้อถามว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านในวันแถลงนโยบายจะเข้าข่ายการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่นั้น ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าได้ทราบจากฝ่ายค้านซึ่งยืนยันว่าจะอภิปรายอยู่ในกรอบ และอภิปรายในเรื่องของนโยบาย รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะปฏิบัติตามนโยบาย แต่จะไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมองว่าขณะนี้ฝ่ายค้าน เป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ มีข้อมูลพร้อมที่จะอภิปรายอยู่ในกรอบของกฎหมายและข้อบังคับการประชุม ส่วนกังวลเรื่องผู้ชุมนุมในวันแถลงนโยบายหรือไม่ ตนเชื่อว่าน่าจะไม่มี เนื่องจากว่าประชาชนสามารถติดตามการถ่ายทอดสดการประชุมผ่านช่องทางสื่อและคงจะไม่มีอะไรมากดดันสภา เนื่องจากหากประชาชนต้องการให้การอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีคุณภาพ ทุกฝ่ายจะต้องไม่มีแรงกดดันใด ๆ นอกจากเนื้อหาสาระการอภิปราย 

ณัฐเดช เอียดปุ่ม /ข่าว /เรียบเรียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

©2023 tpchannel.org