31 ส.ค. 66 – รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คาดยกร่าง รธน. ฉบับใหม่ ใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี เตรียมเสนอคำถาม ประชาชนเห็นควรหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.
นายชูศักดิ์ ศิรินิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)แบบบัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงขั้นตอนการเสนอคำถามประชามติจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะดำเนินการในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดแรกว่า ในส่วนของคำถามประชามติเป็นหน้าที่ของ ครม.ต้องคิดคำถาม อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยได้มีมติเสนอคำถามให้ ครม.พิจารณา มีเนื้อหาสาระว่า ประชาชนเห็นควรหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ซึ่งคำถามอาจมีการปรับแก้ตามความเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับ ครม. โดยหาก ครม. มีมติแล้ว เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่จะดำเนินการจัดทำประชามติ ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน หรือประมาณ 3 เดือน และหากประชามติแรกผ่าน ครม.หรือพรรคการเมืองจะต้องนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มีสาระสำคัญคือเสนอแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยวิธีแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการ ส.ส.ร. ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 3 วาระ และเมื่อจัดทำกฎหมายแล้วเสร็จ จะเข้าสู่กระบวนการเลือก ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยคาดว่าระยะเวลากว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ไม่น่าจะเกิน 3 ปี
ส่วนที่มีการวิจารณ์กรณีพรรคเพื่อไทยไม่ร่วมลงมติเห็นชอบให้เลื่อนระเบียบวาระการพิจารณาคำถามประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญมาพิจารณาก่อนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้(30 ส.ค.66) ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ นายชูศักดิ์ อธิบายว่า เข้าใจสาเหตุที่พรรคก้าวไกลเสนอญัตติมา แต่แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ผ่าน ก็ยังไม่จบ เพราะต้องอาศัยรัฐสภา จึงต้องเข้าสู่การพิจารณาในวุฒิสภาต่อไป จึงคิดว่าการที่ ครม. จะมีมติเสียเลย จะย่อระยะเวลาได้ ดังนั้น มองว่าญัตติของพรรคก้าวไกล แม้จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่ยังต้องให้วุฒิสภาพิจารณา จะได้รับความเห็นชอบหรือไม่ ขณะที่ข้อกังวลของสมาชิกวุฒิสภา(สว.) บางฝ่าย ที่กังวลว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อาจกระทบกับหมวด 1 หรือหมวด 2 จึงควรเสนอเงื่อนไขไว้ในคำถามประชามติครั้งแรก นายชูศักดิ์ ชี้ว่า อาจไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข เนื่องจากมาตรา 255 แห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดไว้อยู่แล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐไม่ได้ และเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเปลี่ยน
นอกจากนี้ นายชูศักดิ์ กล่าวถึงการนัดประชุมของพรรคเพื่อไทยเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการนัดหมายกัน ส่วนคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคคนใหม่ ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เคยระบุไว้ว่า ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถทางเศรษฐกิจและสังคม ส่วนกระแสข่าวที่หัวหน้าพรรคคนต่อไปอาจจะเป็น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็น สส.
อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง