24 ส.ค. 66 – สส.ณัฐชา พรรคก้าวไกล ขอรัฐบาลเพื่อไทย จริงใจแก้รัฐธรรมนูญ ย้ำที่มา ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง ขณะหนุนนายปดิพัทธ์ ทำหน้าที่รองประธานสภาฯ ต่อ เชื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและการพัฒนาสภาผู้แทนราษฎร
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนรษฎร(สส.)กรุงเทพมหานคร เลพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีถึงการส่งไม้ต่อในการบริหารราชการแผ่นดินว่ามีนัยยะทางการเมืองหรือไม่ โดยมองว่า ไม่ได้เป็นเรื่องผิดแปลกอะไร แต่ก็มีข้อเคลือบแคลงสงสัยหลายประเด็น หลังพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติในการร่วมรัฐบาล โดยเชื่อว่าเป็นเหตุที่ทำให้มีเสียงสนับสนุนจาก สว. เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เนื่องจากในวันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบสัญญาณ สว. พบว่า ยังไม่ได้รับสัญญาณว่าจะโหวตหรือไม่โหวตให้ นายเศรษฐา ขณะที่ สว.บางคนอภิปรายชัดเจนว่าจะไม่โหวตให้ กระทั่งมีการไฟเขียวในช่วงบ่ายของวันเดียวกันเพื่อให้โหวตเห็นชอบ นายเศรษฐา ดังนั้นจึงเชื่อว่ามีการเจรจากันนอกรอบอย่างแน่นอน และเมื่อได้เห็นหน้าตารัฐมนตรีทั้ง 35 คน จะทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าภายใต้การเจรจานั้นมีเบื้องหลังเบื้องลึกในการต่อรองตำแหน่งใดไว้บ้าง เนื่องจากการที่พรรคการเมืองที่มีปัญหากันมาอย่างยาวนาน และมาจับมือกันตั้งรัฐบาล ต้องมีข้อเจรจาที่ตกลงกันได้ แต่ประชาชนยังไม่ทราบเท่านั้นเอง
นายณัฐชา ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยจะนำเข้า ครม. ในวาระแรก และยืนยันว่าทำได้อย่างแน่นอน โดยมองว่า ทำได้หากมีความตั้งใจ แต่ความจริงใจต้องพิสูจน์ โดยเฉพาะที่มาของคนแก้คือ ส.ส.ร.นั้น จะมาโดยวิธีการใด ซึ่งก่อนเลือกตั้งมีความเห็นทางเดียวกันว่า ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ประเด็นนี้จึงถือเป็นความจริงใจที่มอบให้ประชาชน ดังนั้นที่มาของ ส.ส.ร.จึงเป็นประเด็นหลักว่าแก้โดยใครและให้ความจริงใจกับประชาชนมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่อยู่ที่ว่าแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่
ต่อข้อถามถึงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ระบุว่า เรื่องนี้ยังคงให้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เนื่องจากเป็นกลไกที่ได้ตำแหน่งมาโดยชอบ ส่วนที่มีกฎหมายบังคับไว้ว่าพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถเป็นประธานหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นั้น ขณะนี้พรรคก้าวไกลอยู่ในสถานะที่ก้ำกึ่งที่พูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นฝ่ายค้าน เพราะเลือกตั้งมาได้เป็นพรรคอันดับ 1 แต่ขอตำแหน่งใดในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ก็ไม่สำเร็จ และเมื่อขอเป็นฝ่ายค้านยังโดนกฎกติกาต่างๆ ที่ทำให้ไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน ดังนั้น สถานการณ์ต่อจากนี้ พรรคก้าวไกลจะอยู่ในสถานะฝ่ายค้านโดยการกระทำ พฤตินัย แต่นิตินัยยังไม่สามารถเป็นฝ่ายค้านได้ เนื่องจากว่ายังสนับสนุนให้ นายปดิพัทธ์ ทำหน้าที่ต่อไปอย่างสุดความสามารถ เพราะอย่างน้อยการทำหน้าที่ของนายปดิพัทธ์ ที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมสภาฯ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและต่อการพัฒนาสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนของผู้นำฝ่ายค้านนั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่า เป็นเรื่องลำดับรองลงไป ประกอบกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่จะต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ ก็ยังคงถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่ และพรรคก้าวไกลไม่มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนเป็นบุคคลอื่น พร้อมยืนยันว่าตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯไม่สามารถส่งต่อให้พรรคการเมืองอื่นที่มีเสียงรองลงมาจากพรรคก้าวไกลซึ่งอยู่ในสถานะฝ่ายค้านเหมือนกันได้ เนื่องจากตามกฎหมายระบุต้องเป็นพรรคที่มีเสียง สส.มากเป็นอันดับหนึ่งของฝั่งฝ่ายค้านเท่านั้น และขณะนี้ยังไม่ได้มีการหารือกับพรรคฝ่ายค้านพรรคใด ซึ่งพรรคก้าวไกลเคยทำหน้าที่ 4 ปีที่ผ่านมาและรอบนี้จะมีพรรคเป็นธรรม พรรคไทยสร้างไทย เข้ามาร่วมด้วย และยังมีพรรคอื่นๆ ที่ต้องมาทำหน้าที่ร่วมกันในฐานะฝ่ายค้าน ด้านตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญยังไม่ได้วางตัวว่าเป็นบุคคลใดเนื่องจากยังไม่ได้จัดสรรว่าพรรคใดจะได้คณะกรรมาธิการชุดใด จึงต้องรอให้มีการประชุมจัดสรรปันส่วนก่อน พรรคก้าวไกลจึงจะสามารถวางตัวบุคคลที่จะนั่งประธานกรรมาธิการสามัญชุดต่างๆได้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าพรรคก้าวไกลจะได้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญ 12 คณะ จากจำนวน สส.ของพรรคก้าวไกล 151 เสียง
อรพรรณ ขันทองคำ ข่าว/เรียบเรียง