16 ส.ค.66 – สส.ชัยวัฒน์ พรรคก้าวไกล แนะกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับสถาบันองค์กรเกษตรกรเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งติดตามหนี้ค้างชำระของหน่วยงานราชการ เพื่อให้มีงบประมาณสำหรับจัดสรรเงินให้กับสถาบันเกษตรกรมากขึ้น
นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ว่า มี3 ประเด็น ดังนี้ จากข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าว พบว่ามีข้อสังเกตว่า กองทุนฯ ได้ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ให้หน่วยงานราชการกู้เงินจากกองทุน มาเป็นให้สถาบันเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนสามารถกู้เงินได้มากขึ้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะทำให้สัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้ลดลง และเป็นการให้กู้เงินโดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ที่ระดับ 1-2% เมื่อเทียบกับแหล่งเงินกู้อื่น ๆ พบว่าน้อยกว่ามาก และเป็นการช่วยเกษตรกรได้มาก และเป็นเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรสามารถชำระเงินคืนกองทุนฯ ได้ตรงเวลา
นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจำนวนสถาบันเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนฯ ในแต่ละปีนั้น พบว่า มียอดหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ 30 ก.ย.64 มีลูกหนี้ 27 ราย แบ่งเป็นองค์กรเกษตรกร 19 แห่ง และหน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ 8 แห่ง เมื่อเทียบกับสินทรัพย์กองทุนสุทธิ 6,780 ล้านบาท ตนมีข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงมีจำนวนสถาบันเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนฯ แต่ละปี จึงมีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับขนาดของกองทุนฯ รวมทั้งเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนเงินกองทุนฯ ที่มีหนี้ค้างชำระของหน่วยราชการและการเร่งรัดหนี้ จำนวน 3,193 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ค้างชำระของหน่วยงานราชการ 3,095 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97 ส่วนใหญ่เป็นกรมส่งเสริมสหกรณ์ 1,318 ล้านบาท กรมปศุสัตว์ 1,204 ล้านบาท องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) 152 ล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 83 ล้านบาท ตนมีข้อสังเกตว่า กองทุนฯ มีวิธีการเร่งรัดหนี้สินจากหน่วยงานราชการดังกล่าวอย่างไร เนื่องจากกองทุนฯ มีหนี้สินค้างมาตั้งแต่ปี 2534 – 2557 และหนี้สินที่เพิ่มเกิดขึ้น โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ หลังปี 2557 อย่างไร เพื่อให้กองทุนฯ มีงบประมาณสำหรับจัดสรรเงินให้กับสถาบันเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น
นายชัยวัฒน์ กล่าวถึงการประเมินผลการดำเนินงาน และตัวชี้วัดของกองทุนฯ ว่า ยังขาดตัวชี้วัดที่ทำให้เห็นถึงผลสำเร็จหรือผลกระทบ (Impact) จากการดำเนินงานของกองทุนฯ ในวงกว้าง ดังนั้น ตนมีข้อเสนอแนะให้กองทุนฯ ควรสนับสนุนงบประมาณให้กับสถาบันเกษตรกรเพื่อให้เกิดผลสำเร็จในวงกว้าง รวมทั้งใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ให้กับสถาบันเกษตรกร หรือใช้ปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0% เพื่อสนับสนุน เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในการขอตรวจรับ GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือดำเนินการเป็นเบี้ยประกันภัยสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่กู้ยืมเงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วประสบภัยพิบัติ โดยไม่ต้องชำระคืนหนี้สินส่วนนั้นเพราะได้ประกันไว้แล้ว
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง