9 ส.ค.66 – ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร รับร่างกฎหมาย 9 ฉบับ 3 ชุด ทั้งปลดล็อกท้องถิ่น – ป้องกันการทุจริต – โอบรับความหลากหลาย จาก คณะ สส. พรรคก้าวไกล หวังเปลี่ยนประเทศ

นายมุข สุไลมาน ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร รับร่างกฎหมายจำนวน 9 ฉบับ จากนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล และคณะ สส.พรรคก้าวไกล ประกอบด้วยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ นายมานพ คีรีภูวดล นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สำหรับร่างกฎหมาย 9 ฉบับ แบ่งออกเป็น 3 ชุด ได้แก่ ชุดกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น 4 ฉบับ ชุดกฎหมายป้องกันการทุจริต 2 ฉบับ และชุดกฎหมายโอบรับความหลากหลาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. …. 2. ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 3. ร่าง พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 4. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. 5. ร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. 6. ร่าง พ.ร.บ.ถนน พ.ศ. …. 7. ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. …. 8. ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. …. และ 9.ร่าง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเตรียมชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศไว้ทั้งหมด 14 ชุด ให้สอดคล้องกับ 300 นโยบายที่พรรคได้เสนอต่อประชาชน โดยเมื่อ 18 ก.ค.66 พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วจำนวน 2 ชุด ได้แก่ ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ และชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด รวม 7 ฉบับ สำหรับความคืบหน้าของร่างกฎหมายที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ ได้รับแจ้งว่า มีร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ที่อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินที่ต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรองก่อนบรรจุเข้าระเบียบวาระ คือ ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. …. ที่จะนำไปสู่การยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร และ ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่จะนำไปสู่การยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทั้งนี้ ตนคาดหวังว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด จะพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะสาระสำคัญจะเป็นการลดภาระงบประมาณของฝ่ายบริหาร รวมทั้งขอให้ทบทวนค่าตอบแทน สวัสดิการของพลทหารให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและภาระงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนคาดหวังว่านายกรัฐมนตรีรักษาการจะไม่ใช้อำนาจดังกล่าวในการขัดขวางร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้ เพื่อให้ร่างกฎหมายถูกพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีตัวแทนของแต่ละพรรคสามารถใช้ดุลพินิจก่อนลงมติได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกฎหมายและนโยบายดังกล่าวหากเข้ามาเป็นรัฐบาล
ด้านนายธัญวัจน์ ฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้การตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่เป็นไปตามกรอบเวลา และส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่ค้างพิจารณาจากสภาชุดที่แล้ว และต้องยืนยันภายใน 60 วันหลังจากที่มีการเปิดสมัยประชุมสภา คือ ภายต้นเดือน ก.ย.66 หากไม่มีการยืนยันเสนอร่างสมรสเท่าเทียม ก็จะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องตกไป ดังนั้นการยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวันนี้ ต้องการลดความเสี่ยงจากการเมืองที่ไม่แน่นอน
ณัฐพล สงวนทรัพย์ ข่าว/เรียบเรียง