a








ประธานรัฐสภา แจงเลื่อนโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 ต้องรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

26 ก.ค. 66 – ประธานรัฐสภา แจงเลื่อนโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 ต้องรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มองไม่เป็นการแทรกแซงอำนาจ ยึดกลไกตามรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันไม่มีการเมืองแทรกแซง

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนกรณีการเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ค. 66) ว่าเนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พิจารณามติการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ซ้ำ ขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เมื่อมีผู้สงสัย ต้องส่งเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งคำวินิจฉัยมีผลผูกพันกับทุกองค์กร ส่วนเหตุผลหลักที่เลื่อน เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลกระทบต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี  หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ขัดรัฐธรรมนูญ ต้องย้อนกระบวนการใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เสียเวลา แต่จะส่งผลเสียต่อผู้ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วย สำหรับคำวินิจฉัยมีอยู่ 2 แนวทาง คือ หากไม่รับคำร้อง รัฐสภาดำเนินการต่อได้ แต่หากรับคำร้องต้องชะลอการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน พร้อมทั้งปฏิเสธว่าไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่ต้องการให้สมาชิกเสียเวลาโดยใช่เหตุ ขณะที่อีกเหตุผล หากมีการประชุมวันพรุ่งนี้ กังวลเรื่ององค์ประชุม เนื่องจาก สส. และ สว. หลายคน แจ้งว่าช่วงเช้าของวันที่ 28 ก.ค. จะต้องเข้าร่วมพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่ศาลาว่าการจังหวัดทุกจังหวัด หากมีการประชุมอาจเดินทางกลับพื้นที่ไม่ทัน ประกอบกับหากมีการเลื่อนประชุมไปก่อน จะทำให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นการปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง

นายวันมูหะมัดนอร์ ตอบข้อถามกรณีหากศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องจะเกิดการประชุมได้เร็วที่สุดเมื่อใดด้วยว่า การประชุมจะเกิดขึ้นทันที เพราะไม่ต้องการให้เสียเวลาแม้แต่น้อย หากรอนานเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อประเทศและคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญทราบดีว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนพิเศษที่จะต้องรีบพิจารณา เพราะจะต้องมีนายกรัฐมนตรี ส่วนกรณีพรรคก้าวไกลเตรียมยื่นญัตติขอให้ที่ประชุมรัฐสภาทบทวนมติ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของกลไกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภาวินิจฉัยไปแล้ว แต่มีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ การให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยน่านะได้ข้อยุติ แต่จะวินิจฉัยตามข้อใดต้องพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลสามารถปรึกษาหารือต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ แต่ต้องพิจารณาว่าจะทำได้หรือไม่เพราะเรื่องไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับรัฐสภา ดังนั้น หากที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยไม่ตรงจะเกิดความยุ่งยากสับสน นอกจากนี้ ประธานรัฐสภาตอบข้อถามถึงการยึดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นการแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ว่า เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ สิ่งใดทำแล้วไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญสามารถทำได้

ทัดดาว ทองอิ่ม ข่าว / เรียบเรียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

©2023 tpchannel.org